TSU


การประชุมวิชาการระดับชาติ การแพทย์แผนไทย ครั้งที่ 4 และ สาธารณสุขวิจัย ครั้งที่ 4

คณะวิทยาการสุขภาพและการกีฬา มหาวิทยาลัยทักษิณ ได้รับเกียรติให้เป็นเจ้าภาพหลักในการจัดประชุมวิชาการระดับชาติการแพทย์แผนไทย ครั้งที่ 4 และ การประชุมวิชาการระดับชาติสาธารณสุขวิจัย ครั้งที่ 4 โดยมีภาคิเครือข่ายความรู้หลายสถาบัน (Knowledge partners) ร่วมดำเนินงาน มีเป้าหมายเพื่อการแลกเปลี่ยนเรียนรู้จากผลงานิจัยและประสบการณ์วิชาชีพของการแพทย์แผนไทยและสาธารณสุข อันจะนำสู่การต่อยอดเพื่อพัฒนาวิชาชีพให้รุ่งเรืองอย่างยั่งยืนสืบไป คณะวิทยาการสุขภาพและการกีฬา จึงถือโอกาสนี้จัดประชุมวิชาการ 2 รายการในคราวเดียวกัน เพื่อขยายโอกาสในการเรียนรู้ร่วมกันของสหวิชาชีพ โดยเฉพาะการบูรณาการการแพทย์แผนไทย กับศาสตร์สุขภาพแผนปัจจุบันอันรวมถึงสาธารณสุขด้วย การประชุมวิชาการครั้งนี้ได้รับงบประมาณสนับสนุนจากคณะวิทยาการสุขภาพและการกีฬา จำนวน 200,000 บาท และสนับสนุนผู้ทรงคุณวุฒิประเมินผลงานวิจัยและผลงานประเภทอื่นๆ รวมถึง ให้ข้อเสนอแนะแก่ผู้นำเสนอจากสถาบันภาคิเครือข่ายความรู้ คาดหวังให้การประชุมวิชาการครั้งนี้สร้างคุณูปการสูงสุดกับความรุ่งเรืองขององค์ความรู้ด้านการแพทย์แผนไทยและสาธารณสุขไทย

การประชุมวิชาการระดับชาติการแพทย์แผนไทย ครั้งที่ 4 The 4th National  Conference in Traditional Thai Medicine: NC-TTM4  “100 ปี กรมหลวงชุมพรฯ กับการแพทย์แผนไทยสู่นวัตกรรมสังคม”

ประวัติความเป็นมา

ปัจจุบันวิทยาการทางการทางการแพทย์ก้าวหน้าไปมากอย่างรวดเร็ว ผู้คนสามารถมีชีวิตที่ยืนยาวและดีขี้นได้เท่าที่ต้องการ อีกทั้งผู้คนในปัจจุบันมีพฤติกรรมการใช้ชีวิตที่แตกต่างไปจากเดิม ทําให้วัฒนธรรมบางอย่างที่สืบทอดกันมาเริ่มสูญหายไปจากสังคมไทย โดยเฉพาะภูมิปัญญาทางด้านการแพทย์แผนไทยที่มีการสืบทอดการบําบัด รักษา และสร้างเสริมสุขภาพด้วยการแพทย์แผนไทย หากขาดการสืบทอดและมีการพัฒนาทางวิชาชีพให้ก้าวทัน สอดคล้องและกลมกลืนกับยุคสังคมปัจจุบัน วิชาชีพการแพทย์แผนไทยก็อาจถูกลบเลือนหายไปจากสังคมไทย หากมองย้อนไปถึงสมัยอดีตที่แม้จะยังไม่รุ่งเรืองเฟื่องฟูเท่าในสมัยนี้นัก คนโบราณนั้นท่านเป็นคนฉลาด รู้จักสังเกต ทดลองและทดสอบสมุนไพรหลากหลายชนิด จนมั่นใจแล้วว่าสามารถนำมาปรุงเป็นยาใช้รักษาโรคภัยไข้เจ็บต่าง ๆ ได้ผลชะงัดนัก ซึ่งสิ่งนี้ถือว่าเป็นมรดกอันล้ำค่าอย่างหนึ่งที่คนในสมัยโบราณฝากไว้ให้ ดังเช่นยาแผนโบราณตำรับกรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ ที่พระองค์ทรงรวบรวมและเรียบเรียงขึ้นเป็นตำราการใช้สมุนไพรเป็นยาป้องกันและรักษาโรค เรียกกันว่าตำรายาหมอพร ซึ่งเป็นทางเลือกหนึ่งของการรักษาโรคที่สืบทอดกันมาช้านาน โดยในปัจจุบันได้มีการจัดพิมพ์และเผยแพร่ตำรายาหมอพรสู่สาธารณชน เพื่อการศึกษา เรียนรู้วัฒนธรรมและภูมิปัญญาไทยในด้านการแพทย์แผนไทย เป็นมรดกภูมิปัญญาให้กับคนในชาติ และพัฒนาต่อยอดเพื่อประโยชน์ต่อไปในอนาคต

พลเรือเอกพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้าอาภากรเกียรติวงศ์ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ ในพระสถานะ “หมอพร” เป็นหนึ่งในพระกรณียกิจสำคัญที่ผู้คนต่างกล่าวขานมาจนถึงยุคปัจจุบัน ไม่ว่าในด้านน้ำพระทัยที่กว้างขวางโดยทรงออกรักษาคนเจ็บตามชุมชนอย่างไม่เลือกชั้นวรรณะ และไม่ทรงเรียกร้องค่าตอบแทน อีกทั้งยังทรงศึกษาการแพทย์ทั้งแผนไทยและแผนตะวันตกสำหรับใช้ควบคู่กัน ประหนึ่งทรงเป็น “บิดาแห่งการแพทย์บูรณาการ” โดยเมื่อทรงศึกษาวิชาแพทย์นั้น ได้ทรงฝากตัวเป็นศิษย์กับพระยาพิษณุประสาทเวช (คง ถาวรเวช) แพทย์หลวงแผนไทย รวมทั้งแพทย์แผนใหม่แบบตะวันตกท่านอื่น ๆ ทั้งนายแพทย์ชาวอิตาเลียน และชาวญี่ปุ่น เมื่อศึกษาจนเชี่ยวชาญแล้ว ได้ทรงออกรักษาโรคภัยไข้เจ็บให้กับคนทั่วไป ไม่เลือกยากดีมีจน โดยไม่คิดค่ารักษาหรือค่ายา หากมารักษาเองไม่ได้ก็ให้มารับส่ง บางครั้งก็เสด็จออกแวะเยี่ยมคนไข้ โดยมีพระโอรสธิดาช่วยถือกระเป๋าและเครื่องมือตามไปด้วย จากการสนพระทัยและผลงานด้านการแพทย์แผนไทยของพระองค์ท่านนับว่ากรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ทรงเป็นบูรพาจารย์และผู้มีคุณูปการต่อการแพทย์แผนไทยเป็นอย่างยิ่ง

เนื่องด้วยในวาระครบรอบ 100 ปี แห่งวันสิ้นพระชนม์ของพลเรือเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ คณะวิทยาการสุขภาพและการกีฬา มหาวิทยาลัยทักษิณ จึงได้จัดการประชุมวิชาการระดับชาติการแพทย์แผนไทย ครั้งที่ 4 (The 4th National Conference in Traditional Thai Medicine: NC-TTM4 “100 ปี กรมหลวงชุมพรฯ กับการแพทย์แผนไทยสู่นวัตกรรมสังคม”) โดยจัดขึ้นในระหว่างวันที่ 16 - 17 พฤศจิกายน 2566 เพื่อเป็นการน้อมรำลึก 100 ปี พระเกียรติคุณและพระมหากรุณาธิคุณของพลเรือเอก พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมหลวงชุมพรเขตอุดมศักดิ์ ซึ่งเป็นผู้มีคุณูปการต่อการแพทย์แผนไทยและสาธารณสุขไทย มีวัตถุประสงค์ให้คณาจารย์ นักวิจัย นิสิต นักศึกษา บุคลากรในแวดวงวิชาการและวิจัยทั้งภายในและภายนอกมหาวิทยาลัยและภาคประชาสังคม ได้มีโอกาสนําเสนอผลงานทางวิชาการ ผลงานวิจัย รวมทั้งแลกเปลี่ยนประสบการณ์ด้านการวิจัย มีการเรียนรู้ร่วมกันเพื่อพัฒนาคุณภาพด้านวิจัยในสาขาต่าง ๆ โดยมีการสร้างความร่วมมือกับสถาบันและเครือข่ายภายในประเทศ เพื่อสนับสนุนนวัตกรรมสังคมสุขภาพและการจัดการศึกษาเพื่อการพัฒนากำลังคนอย่างต่อเนื่อง ตลอดจนการสร้างความท้าทายในการพัฒนาระบบงานและนวัตกรรมด้านการแพทย์แผนไทย และการสาธารณสุขในยุคของการเปลี่ยนแปลงในทุกบริบทของสังคมไทยและสังคมโลก เพื่อมุ่งสู่การพัฒนาสังคมสุขภาวะอย่างยังยืน ต่อไป

การประชุมวิชาการระดับชาติสาธารณสุขวิจัย ครั้งที่ 4 The 4th National Conference in Public Health Research: PH-CON 4 “นวัตกรรมสังคมทางสาธารณสุขในยุคเปลี่ยนแปลง”

ประชุมวิชาการระดับชาติสาธารณสุขวิจัยครั้งที่ 1 ริเริ่มเมื่อ พ.ศ. 2561 โดยสำนักนักวิชาสาธารณสุขศาสตร์ ม.วลัยลักษณ์ ร่วมกับคณะวิทยาการสุขภาพและการกีฬา มหาวิทยาลัยทักษิณ วิทยาเขตพัทลุง และคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอุตสาหกรรม มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตสุราษฎร์ธานี ภายใต้หัวข้อ “สาธารณสุขในเป้าหมายการพัฒนาสุขภาพที่ยั่งยืน (Public Health in Sustainable Goals : SDGs)” เพื่อรวบรวมองค์ความรู้จากงานวิจัย งานวิชาการด้านสาธารณสุขที่มีความเชื่อมโยงกับเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนและเป็นเวทีให้คณาจารย์ บุคลากร และนักศึกษา นำเสนองานวิจัยและวิชาการ อันนำไปสู่การสร้างเครือข่ายความร่วมมือทางวิชาการ ตลอดจนพัฒนางานวิจัยไปสู่สาธารณะ ซึ่งจัดขึ้นที่มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ การประชุมวิชาการระดับชาติสาธารณสุขวิจัยครั้งที่ 2 จัดขึ้นในปี พ.ศ. 2562 (16-17 พฤษภาคม)  ภายใต้หัวข้อ “การสาธารณสุขในยุคของโลกแห่งการเปลี่ยนแปลง (Public Health in Disruptive World)”  ณ หอประชุมเฉลิมพระเกียรติ มหาวิทยาลัยทักษิณ วิทยาเขตพัทลุง โดยเจ้าภาพจาก 3 สถาบัน การประชุมครั้งนี้มุ่งเน้นขยายกลุ่มเป้าหมายสู่นักวิจัยด้านสาธารณสุขทั่วประเทศได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนเรียนรู้การวิจัยและประสบการณ์เชิงวิชาชีพ รวมถึงสร้างความท้าทายในการพัฒนางานสาธารณสุขในยุคของการเปลี่ยนแปลงทุกด้าน อันจะส่งเสริมให้เกิดความมั่นคง มั่งคั่งและยั่งยืนในโลกของการเปลี่ยนแปลง กำหนดกลยุทธ์ด้านการส่งเสริมโครงสร้างที่เอื้อต่อการมีสุขภาวะของคนไทย โดยเฉพาะสร้างหลักประกันสุขอนามัยสำหรับทุกคน  เกิดสถานการณ์และแนวโน้มของพัฒนาการด้วยศาสตร์ด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเกี่ยวกับวิทยาการปัญญาอย่างก้าวกระโดด และฉับพลัน กระแสโลกาภิวัตน์เข้มข้นขึ้นมาก ซึ่งจะเป็นเงื่อนไขสำคัญสำหรับวิถีชีวิตและการพัฒนาในทุกด้านเพื่อสังคมสุขภาวะอย่างยั่งยืน การประชุมครั้งนี้จัดให้มี  International session ด้วยเพื่อรองรับนักวิจัยและนักวิชาการต่างชาติรวมถึงนักวิจัยและนักวิชาการไทยที่ต้องการนำเสนอและแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในบรรยากาศนานาชาติ ในช่วงปี 2563-2564 เว้นช่วงการจัดเนื่องจากการแพร่ระบาดของโรค COVID-19 สำหรับการประชุมครั้งที่ 3 จึงจัดในปี พ.ศ. 2565 เป็นการประชุมระดับชาติและนานาชาติ ด้วยระบบออนไลน์เนื่องจากยังคงมีสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรค COVID-19 อยู่  ภายใต้หัวข้อ  “Enhancing Public Health System Resilience in the Next Normal Era” มีเจ้าภาพร่วม 7 สถาบัน ดังนี้  สำนักวิชาสาธารณสุขศาสตร์ ม. วลัยลักษณ์ สถาบันวิจัยวิทยาการสุขภาพ ม. วลัยลักษณ์ สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข ม.สงขลานครินทร์ คณะวิทยาการสุขภาพและการกีฬา ม.ทักษิณ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอุตสาหกรรม ม.สงขลานครินทร์ สถาบันนโยบายสาธารณะ (สนส.) ม.สงขลานครินทร์  และ Universitas Pembangunan Nasional "Veteran" Jakarta (UPNVJ)

การประชุมสาธารณสุขวิจัยครั้งที่ 4 ซึ่งจัดขึ้น วันที่ 16-17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2566 มีวัตถุประสงค์เพื่อการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ผลงานวิจัยและองค์ความรู้จากประสบการณ์วิชาชีพสาธารณสุข รวมถึงมีการเสวนาสาระที่เกี่ยวข้องกับการเติบโตด้านวิชาชีพสาธารณสุขชุมชนในช่วงการเปลี่ยนแปลงหลายประเด็น จัดขึ้น ณ. โรงแรมคริสตัล อ.หาดใหญ่ จ.สงขลา  โดยมีคณะวิทยาการสุขภาพและการกีฬา มหาวิทยาลัยทักษิณ เป็นเจ้าภาพหลัก มีสถาบันร่วมเป็นเจ้าภาพ  ดังนี้

การแพทย์แผนไทยวิจัย

คณะวิทยาการสุขภาพและการกีฬา มหาวิทยาลัยทักษิณ

สภาวิชาชีพการแพทย์แผนไทย

สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดพัทลุง

มหาวิทยาลัยรังสิต

มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์

มหาวิทยาลัยราชภัฏอุบลราชธานี

มหาวิทยาลัยราชภัฏบ้านสมเด็จเจ้าพระยา

มหาวิทยาลัยราชภัฏเพชรบุรี

มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี

วิทยาลัยนอร์ทเทิร์น

มหาวิทยาลัยปทุมธานี

มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย

มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช

มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

มหาวิทยาลัยมหิดล

มหาวิทยาลัยนเรศวร

มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง

มหาวิทยาลัยมหาสารคาม

มหาวิทยาลัยพะเยา

วิทยาลัยสาธารณสุขสิรินธร จังหวัดตรัง

วิทยาลัยสาธารณสุขสิรินธร จังหวัดยะลา


การสาธารณสุขวิจัย

คณะวิทยาการสุขภาพและการกีฬา มหาวิทยาลัยทักษิณ

สำนักวิชาสาธารณสุขศาสตร์  มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์

สาขาวิชาอาชีวอนามัยและความปลอดภัย มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์

วิทยาลัยการสาธารณสุขสิรินธร จังหวัดตรัง

วิทยาลัยการสาธารณสุขสิรินธร จังหวัดยะลา

คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยราชภัฏสุราษฎร์ธานี

คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา

คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยราชภัฏนครศรีธรรมราช

สถาบันนโยบายสาธารณะ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์